หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

มทส. เพิ่มศักยภาพวิจัยโดยร่วมเป็นสมาชิกสมทบของอลิซ, เซิร์น


ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท  สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) รายงานว่า สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้อนุมัติให้ มทส. ร่วมเป็นสมาชิกสมทบกับอลิซ (ALICE, A Larger Ion Collision Experiment) เซิร์น (CERN) 

โดยได้พิจารณาเห็นว่า วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้นักวิจัยของ มทส. ได้ใช้เครื่องมือ อุปกรณ์วิจัยขั้นสูงที่ราคาแพงมาก จนมหาวิทยาลัยไม่สามารถที่จะจัดซื้อจัดหาได้ คือ  การไปร่วมทำข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัย สถาบัน หรือศูนย์วิจัยระดับโลก และเป็นการก้าวสู่ระดับสากลทางวิชาการของมหาวิทยาลัย 


เซิร์น คือ องค์กรแห่งยุโรปเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์ เป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปยุโรปเพื่อศึกษาค้นคว้า วิจัยด้านฟิสิกส์นิวเคลียร์และฟิสิกส์อนุภาค ตั้งอยู่ที่ กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ 

หน้าที่หลักของเซิร์น มี 4 ประการ คือ 
  1. ศึกษาค้นคว้าหาคำตอบเกี่ยวกับการกำเนิดจักรวาล 
  2. พัฒนาเทคโนโลยีให้ล้ำหน้า 
  3. สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพลโลกด้วยวิทยาศาสตร์
  4. สร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ 

ปัจจุบันเซิร์น ได้ติดตั้งแอลเอชซี (LHC,  Large Hadron Collider) ซึ่งเป็นเครื่องเร่งอนุภาคฮาดรอนแบบปะทะขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเครื่องเร่งอนุภาคแบบวงกลมที่มีเส้นรอบวงถึงประมาณ 27 กิโลเมตร สถานีทดลองในแอลเอชซี มีอยู่หกกลุ่ม คือ  อลิซ ซีเอ็มเอส (CMS, Compact Muon Solenoid) แอลเอชซีบี (LHCb, Large Hadron Collider beauty) แอลเอชซีเอฟ (LHCf, Large Hadron Collider forward) และโทเท็ม (TOTEM, TOTal Elastic and diffractive cross section Measurement) 

คณะผู้บริหารของ มทส. ได้เดินทางไปพบเพื่อเจรจาความร่วมมือกับผู้บริหารระดับสูงของ เซิร์น และของอลิซ เช่น ผู้อำนวยการใหญ่ของเซิร์น ศาสตราจารย์ รอล์ฟ ฮอยเออร์ (Rolf  Heuer) ศาสตราจารย์ ทเซสมีลิส (Emmanuel Tsesmilis) ผู้ประสานงานฝ่ายภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ , ดร.เจียเบลลิโน(Paolo Giubellino) โฆษกของอลิซ ดร.ชูลตซ์ (Yves Schultz) รองโฆษกของอลิซ เป็นต้น


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิโนรัตน์  กอบเดช หัวหน้าสาขาวิชาฟิสิกส์ มทส. กล่าวว่า “มทส. มีความเข้มแข็งทางด้านการวิจัยอยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางด้านฟิสิกส์อนุภาค ที่มีการทำงานวิจัยสอดรับกับเครื่องตรวจวัดอนุภาคที่อลิซ ที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกรับว่าเป็นหนึ่งในสี่ของเครื่องตรวจวัดอนุภาคของแอลเอสซี ซึ่งเป็นเครื่องเร่งอนุภาคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน ที่สถานีทดลองของอลิซ จะทำการเร่งฮาดรอนที่เป็นนิวเคลียสของตะกั่วโดยเฉพาะซึ่งเป็นฮาดรอนที่มีมวลมากและเสถียรให้มีความเร็วเข้าใกล้ความเร็วแสงมาชนกันภายใต้เงื่อนไขพลังงานสูงมาก 

ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่าการชนกันจะทำให้เกิดการหลอมตัวของนิวเคลียสของตะกั่วที่ประกอบไปด้วยโปรตอนและนิวตรอนได้เป็นสภาวะพลาสมาของควาร์กและกลูออน ซึ่งเป็นสภาวะที่เชื่อกันว่าเกิดก่อนที่จะเกิดการรวมตัวกันขึ้นเป็นฮาดรอนที่เสถียรและเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสสารที่ปรากฏในปัจจุบันนั้นเอง ในอนาคตคาดว่า มทส. จะสามารถพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์ข้อมูลระดับ TIER 2 ของอลิซ โดยข้อมูลการทดลองขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญบางส่วนจะถูกนำมาบรรจุไว้เพื่อรองรับการเรียกใช้จากนักวิจัยต่าง ๆ ทั่วโลก และนักวิจัยไทยเองก็จะได้รับประโยชน์เป็นอย่างมากจากวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้” ดร.ชิโนรัตน์ สรุป.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น