การปรับช่องทางการค้าขาย ด้วยการปิดร้านในศูนย์การค้าทำเลดี มาเปิดร้านเสมือนในโลกออนไลน์ ไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์ มีตัวตน ที่สัมผัสได้ แต่อย่าเผลอเข้าใจผิด คิดว่าชีวิตธุรกิจในโลกไซเบอร์จะเป็นงานง่าย สบาย และรวยเร็ว
ตั้ม-พลยุกต์ มีเมศกุล เจ้าของธุรกิจจำหน่ายเครื่องเล่นเกม โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์ไอทีทันสมัย ผ่านเว็บไซต์ เกมมิ่ง-โอเอซิส (http://gaming-oasis.tarad.com) ซึ่งตัดสินใจถอนตัวจากการเช่าพื้นที่บนศูนย์การค้า มาสู่โลกพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ บอกกับเราว่า ทุกอย่างไม่ได้เป็นดังที่เข้าใจกันว่า เปิดร้านออนไลน์ สบายแล้ว รวย เพราะ แท้จริงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการดึงคนเข้าเว็บ ต้องวางแผนว่า จำนวนที่เข้ามาจะซื้อสักกี่เปอร์เซ็นต์ รายละเอียดตัวเลขข้อมูลทุกอย่างสำหรับผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บต้องดูทั้งหมด ถ้าไม่อ่านก็เหมือนทำธุรกิจโดยไม่ดูบัญชี ซึ่งไม่ถูกต้อง
“คนที่อยากทำธุรกิจออนไลน์ ต้องศึกษาข้อมูลให้ดี กับต้องคิดว่า เว็บไซต์คือหน้าร้าน อย่าคิดว่าไม่ต้องเซ้งที่เปิดร้านแล้วทำยังไงก็ได้” พลยุกต์ กระตุกคนที่ฝันกลางวันว่าทำอีคอมเมิร์ซแล้วจะรวยโดยไม่ต้องทำอะไรเลย
เจ้าของเว็บเกมมิ่ง-โอเอซิส บอกว่า นอกจากเก็บและอ่านข้อมูลความเคลื่อน ไหวจากหน้าร้านออนไลน์ของตนเองแล้ว ในฐานะสมาชิกของตลาดดอทคอม ราคุเทน ยังต้องศึกษาวิเคราะห์ข้อ มูลอย่างจริง จัง เหมือนกิจ การทั่วไป ต้องคำนวณต้นทุนค่าขนส่ง เว็บ ที่เน้นความเปลี่ยนแปลงอาจต้องมีพนัก งานกราฟิก หรือ บางกิจการต้องจ้างโปรแกรมเมอร์ ตลอดจนการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
“ก็ไม่ถึงกับยาก แต่ต้องทำงาน ต้องสนใจข้อมูล ส่วนที่ดีของระบบออนไลน์ อยู่ที่การวัดค่าต่าง ๆ ที่อยากรู้ได้ ตรวจสอบได้ว่า ลงทุนแล้วผลตอบแทบที่กลับมาเท่าใด เทียบกับการมีหน้าร้านแบบดั้งเดิมที่วัดค่าอะไรไม่ได้ ทำรีพอร์ต (ออกรายงาน) ไม่ได้ และมีวิธีกระตุ้นให้คนเข้ามาที่ร้านหรือเว็บจำนวนมาก ๆ ได้ ในขณะที่หน้าร้านทั่วไปทำไม่ได้
พลยุกต์ บอกว่า การเปิดร้านขายเกมในศูนย์การค้ามีข้อดี เพราะลูกค้าสนใจจะไปที่ร้าน จนต้องจัดให้มีที่สังสรรค์ กิจการก็ไปได้ดี จนต้องขยายร้านอยู่ในชั้นถัดลงมา มีลูกค้าชาวต่างชาติจำนวนมาก แต่แล้ว เมื่อเกิดปัญหาการชุมนุมทางการเมือง สถานการณ์ทำท่าจะลุกลาม ลูกค้าต่างประเทศก็หายหมด เขาต้องเผชิญการขาดทุนอยู่หลายเดือน จึงตัดสินใจเลิกเช่าไป 1 ร้านเหลืออีก 1 แห่งสักระยะ ระหว่างนั้น ก็ลองศึกษาข้อมูลการเปิดเว็บขายอย่างเป็นเรื่องเป็นราว โดยเข้าเป็นสมาชิกตลาดดอทคอม (www.tarad.com) พันธมิตรของราคุเทน (http://global.rakuten.com/group) ซึ่งเป็นเว็บค้าขายมีชื่อเสียงของโลก และเพียงการลงทะเบียน อบรม ก็ได้ทราบถึงเทคนิคการเพิ่มยอดขาย การทำให้คนเข้าเว็บ และเปลี่ยนให้คนเข้าเว็บเป็นลูกค้า
“การมีหน้าร้านออนไลน์ เดี๋ยวนี้ มีเฟซ บุ๊ก (www.facebook.com) สร้างเครือข่ายเชื่อมโยง จึงรู้จักลูกค้ามาก และจำแนกได้ว่า ผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บเป็นใคร ทางเว็บอยากให้ผู้เยี่ยมชมเพศใด เข้าดูสินค้า ก็ทำได้
หลังการตัดสินใจเริ่มต้นกับการขายออนไลน์ ก็เกิดน้ำท่วม ขณะที่บ้านซึ่งเป็นสำนักงานยังรอด แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ออกจากบ้านไม่ได้ หรือไม่อยากออก คนที่ชอบเล่นเกมยิ่งอยากเล่นมากขึ้น คำสั่งซื้อช่วงน้ำท่วมจึงมีเข้ามาเหมือนช่วงปกติ ยอดขายก็ไม่ตก โดยส่งสินค้าทางไปรษณีย์ หรือให้บริษัทเอกชนส่งต่อ เขาต้องเปิดวอร์รูม เพื่อติดตามสถานการณ์ว่าพื้นที่ใดยังส่งของได้ หรือไม่ มีบางครั้งส่งของไปตกค้างที่ไปรษณีย์ จนมีลูกค้ารายหนึ่ง ยอมลุยน้ำไปรับของที่ไปรษณีย์แห่งนั้น
ช่วงน้ำท่วม เขาได้ใช้ระบบไอทีทำงานอย่างเต็มที่ นอกจากเว็บค้าขายได้ เขาทำระบบเวอร์ช่วล ออฟฟิศ หรือสำนักงานเสมือน ที่ติดต่อ ประชุม ด้วยระบบออนไลน์ พนักงานที่บ้านโดนน้ำท่วมต้องย้ายไปต่างจังหวัด ก็รับหน้าที่ดูแลเฟซบุ๊กของบริษัท โดยทำงานตามร้านอินเทอร์เน็ต
พลยุกต์บอกว่า การค้าขายออนไลน์ แก้ปัญหาได้หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องจุกจิกบางอย่าง ก็ไม่เข้ามากระทบเลย
เขาพยายามพัฒนาระบบให้จัดการรับคำสั่งซื้อและอำนวยความสะดวกกับลูกค้าบนเว็บอย่างเต็มที่ โดยพยายามใจแข็ง หลีกเลี่ยงการรับนัดลูกค้าที่ขอมารับที่สำนักงานหรือให้ไปส่งที่จุดหนึ่งจุดใด เพื่อให้งานทุกอย่างอยู่ในโลกออนไลน์อย่างแท้จริง
ซึ่งเป็นอีกอย่างที่ไม่ใช่เรื่องง่าย....
Source: Dailynews
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น