ครั้งแรกในชีวิตกับการทำแผ่นพับ เนื่องจากได้รับคำสั่งจากท่านแม่(แม่คุณทูลหัว) ก็เลยลองทำดูบ้างเผื่อจะเวิร์ก... ทำไปทำมาก็ได้ความรู้เพิ่มเติมอย่างมากเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย ว่าทำไมต้องปฏิวัติมากมายขนาดนี้ ลองอ่านดูนะครับ เนื้อหานี้เป็นการสรุปย่อบางส่วน ...
ในสมัยจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เกิดการเรียกร้องประชาธิปไตยจากกลุ่มปัญญาชนโดยมีอุดมการณ์หลัก คือ การต่อต้านเผด็จการทหาร การผูกขาดทางเศรษฐกิจ การฉ้อราษฎร์บังหลวง และมีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งกลุ่มนิสิตนักศึกษามีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เมื่อ ธันวาคม ๒๕๑๒ เริ่มสร้างผลงาน เช่น การรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น การประท้วงประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๙๙ เกี่ยวกับอำนาจอิสระของอำนาจศาล ประท้วงขึ้นค่ารถเมล์ และการขอให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองการกระทำเหล่านี้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประชาชนคนรุ่นใหม่อันเป็นผลมาจากนโยบายการพัฒนาประเทศ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งมี ๓ เหตุการณ์ คือ วันมหาวิปโยค (๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖) เหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ (๑๗ – ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕)
วันมหาวิปโยค เกิดขึ้นรุนแรงเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ โดยที่ประชาชนจำนวนกว่า ๕ แสนคน ได้รวมตัวลุกฮือต่อต้านเผด็จการทหารเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เกิดการปะทะกันระหว่างกองกำลังฝ่ายรัฐบาลและผู้ประท้วง มีการเสียชีวิตเสียเลือดเนื้อ ทำลายทรัพย์สิน เผาอาคารราชการ ทำลายสัญญาณจราจร ผลสุดท้าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงออกโทรทัศน์รับส่งว่า “วันนี้เป็นวันมหาวิปโยค ขอให้ทุกฝ่ายกลับไปอยู่ในความสงบหยุดยั้งการรบราฆ่าฟันกันเอง” เมื่อเหตุการณ์ยุติลง จอมพล ถนอม กิตติขจรได้กราบบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและยินยอมลี้ภัยไปต่างประเทศพร้อมกับ จอมพล ประภาส จารุเสถียร และ พันเอก ณรงค์ กิตติขจร เหตุการณ์ครั้งนี้นับว่ากลุ่มนิสิตนักศึกษาอาจารย์มหาวิทยาลัยได้มีบทบาทในการแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น และได้รับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าฉบับที่ผ่านมา นั่นคือ รัฐธรรมนูญฉบับราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๑๗ ขณะเดียวกันได้มีการเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชน มีการอภิปรายปัญหาบ้านเมืองและเกิดการรวมกลุ่มเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นต้น ปัจจุบันได้มีการตั้งชื่อเหตุการณ์วันมหาวิปโยคนี้ใหม่ว่า “๑๔ ตุลาวันประชาธิปไตย”
เหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เหตุการณ์นองเลือดครั้งนี้เกิดขึ้นสมัย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเหตุการณ์ช่วงนี้นับได้ว่าดอกไม้แห่งประชาธิปไตยกำลังเบ่งบานเต็มที่ มีการเรียกร้องทางการเมืองมากมายจนเกินขอบเขต เช่น มีการประท้วง นัดหยุดงาน เป็นต้น บางกรณีเป็นจริง บางกรณีเกิดจากการฉวยโอกาสที่ไม่สมเหตุผล ในขณะเดียวกันเกิดกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ไม่เห็นด้วยกับประชาธิปไตยที่เกินขอบเขต กลายเป็นกลุ่มต่อต้านในสังคม เช่น กลุ่มกระทิงแดง เป็นต้น จุดวิกฤตการณ์ได้เกิดขึ้นเมื่อ สามทรราช ได้พยายามเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะจอมพล ถนอม กิตติขจร ซึ่งบวชเณรมาจากประเทศสิงคโปร์ ทำให้เกิดการประท้วงจากนิสิตนักศึกษาและประชาชนซึ่งจัดชุมนุมกันที่ ม.ธรรมศาสตร์ เกิดการล้อเลียนทางการเมืองและสถานการณ์ได้พลิกผันจนเกิดเป็นเรื่องของการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำให้เกิดความเกลียดชังกระเหี้ยนกระหือที่จะห้ำหั่นกัน ฝ่ายทหารได้ปิดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ มีการต้อสู้ด้วยอาวุธปืน แขวนคอ ฆ่าคนโดยใช้ยางรถยนต์เป็นเชื้อ รุ่มฆ่าอย่างโหดเหี้ยม เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่คนไทยฆ่าคนไทยด้วยกันอย่างหน้าเศร้าสลด น่าสังเวช และสิ้นสุดด้วยการยึดอำนาจของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งมี พลเรือเอก สงัด ชะลออยู่ เป็นหัวหน้า มีการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๑๗ การยุบรัฐสภา พรรคการเมือง ฯลฯ และแต่งตั้ง นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นมาบริหารประเทศ เป็นการสิ้นสุดระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์แบบ เนื่องจาก นายธานินทร์ กรัยวิเชียร น่ากลัวยิ่งกว่าเผด็จการทหาร ต่อมารัฐบาลชุดนี้ได้ถูกยึดอำนาจในที่สุด
เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เกิดขึ้นโดยประชาชนมาชุมนุมกัน เพราะมีสาเหตุมาจากกลุ่มทหารได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ในนามคณะรักษาความเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) และได้มีพระราชโองการแต่งตั้ง นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมา การร่างรัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้มีการเลือกตั้งทั่วไปแม้ว่าจะได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วก็ตาม แต่ผู้บัญชาการทหารสูงสุด คือ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ยังคงรักษาอำนาจโดยการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามที่พรรคการเมืองบางพรรคเสนอ ทำให้ประชาชนไม่พอใจ ชุมนุมเรียกร้องต่อต้านอำนาจเผด็จการ รสช. จนเป็นเหตุบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมือง ต่อมา พล.อ.สุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้เสนอชื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๕ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้งทั่วไป ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนโดยมี นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๓๕ ดังนั้นเหตุการณ์นองเลือดที่มีความสำคัญกับเมืองไทยมี ๓ เหตุการณ์ แต่มี ๒ เหตุการณ์ที่คล้ายกัน คือ วันมหาวิปโยค และ พฤษภาทมิฬ โดยมีลักษณะเหตุการณ์ดังนี้ เหตุการณ์ที่ต่อสู้ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เหตุการณ์ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจที่มีความก้าวหน้าทันสมัย เหตุการณ์มีลักษณะเป็นการจลาจลคล้ายสงครามการเมือง
สรุป จากการปรับเปลี่ยนทางการเมืองไทยได้เปิดโอกาสให้ระบบพรรคการเมืองมีอำนาจมากขึ้น ให้ความสำคัญต่อระบบรัฐสภาสูงขึ้น ได้ก่อให้เกิดผลทางการเมืองในปัจจุบัน กล่าวคือ นักการเมืองได้รับการยอมรับ แต่บทบาทและพฤติกรรมของนักการเมืองได้ทำให้ประชาชนผิดหวัง เพระว่า มุ่งเน้นผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง แย่งชิงอำนาจและตำแหน่งทางการเมืองทำให้เกิดภาวะ ธุรกิจการเมือง ส่วนประชาชนได้เกิดการเรียนรู้ มีประสบการณ์วิเคราะห์การเมือง และหาทางต่อสู้ต่อต้านอำนาจเผด็จการ มีความตื่นตัวทางการเมืองสูงขึ้น แต่ปัญหาที่เกิดจากนักการเมืองรุ่นเก่าที่ยังมีทัศนคติวัฒนธรรมและพฤติกรรมการเมืองแบบเดิม ทำให้ประชาชนมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาอันนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ. ๒๕๔๐ เพื่อสร้างความโปร่งใสทางการเมืองยิ่งขึ้น
หนังสืออ้างอิง
ศิริพร สุเมธารัตน์. วิถีโลก (หน้า ๒๒๑ – ๒๒๖). พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, ๒๕๕๒.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น